
ข้อบังคับ
ของ
“สมาคมปรสิตวิทยาและอายุรศาสตร์เขตร้อนแห่งประเทศไทย”
ฉบับ พ.ศ. ๒๕๖๐ (แก้ไขปรับปรุงครั้งที่ ๑)
--------------------------------------------------------
หมวด ๑
ชื่อ ตรา และที่ตั้งสำนักงาน
ข้อ ๑ สมาคมนี้ชื่อว่า “สมาคมปรสิตวิทยาและอายุรศาสตร์เขตร้อนแห่งประเทศไทย” และชื่อย่อว่า “ส.ป.อ.ท.”
ชื่อภาษาอังกฤษว่า “Parasitology and Tropical Medicine Association of Thailand” และชื่อย่อว่า “PTAT”
ข้อ ๒ ตราของสมาคมเป็นสัญลักษณ์ทรงกลมประสานกันด้วยเส้นโค้งแนวตั้งและแนวนอนที่เสมือนกำลังเคลื่อนไหว คล้ายลูกโลกที่มีเส้นอิเควเตอร์กับเส้นเมอริเดียน แสดงถึง การมีบทบาทร่วมกับนานาประเทศในการพัฒนาวิชาการด้านปรสิตวิทยาและอายุรศาสตร์เขตร้อนอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งแสดงถึงการกระจายของโรคทางปรสิตวิทยาและอายุรศาสตร์เขตร้อนซึ่งมีความเชื่อมโยงติดต่อถึงกันไปทั่วโลก ไม่จำกัดอยู่แต่เฉพาะบางพื้นที่หรือบางส่วนของภูมิภาค สำหรับสีน้ำเงินบนโครงสร้างของเส้นโค้งแนวตั้งและแนวนอน บ่งบอกถึงความสุขุมเยือกเย็น ความละเอียดรอบคอบ ความเข้มแข็ง และมิตรภาพ
และมีชื่อสมาคมเป็นอักษรภาษาอังกฤษ “PTAT” พร้อมชื่อเต็มของสมาคมเป็นภาษาอังกฤษว่า “PARASITOLOGY AND TROPIICAL MEDICINE ASSOCIATION OF THAILAND” โดยสีทองเป็นสัญลักษณ์ของพระอาทิตย์และสัจธรรม แสดงถึง ความอบอุ่น ความเจริญก้าวหน้า และความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ในสิ่งใหม่
ดังรูปข้างล่าง
ข้อ ๓ สำนักงานของสมาคมตั้งอยู่ที่ คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล เลขที่ ๔๒๐/๖ ถนนราชวิถี เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร ๑๐๔๐๐
หมวด ๒
วัตถุประสงค์
ข้อ ๔ สมาคมมีวัตถุประสงค์ดังต่อไปนี้
(๑) สนับสนุนและส่งเสริมการศึกษาวิจัยทางปรสิตวิทยา และ/หรือ วิชาเวชศาสตร์เขตร้อนในประเทศไทย ให้ก้าวหน้าตามหลักวิทยาศาสตร์การแพทย์
(๒) เผยแพร่ โฆษณา และแลกเปลี่ยนความรู้และความคิดเห็นทางปรสิตวิทยา และ/หรือ เวชศาสตร์เขตร้อน
(๓) ร่วมมือและแลกเปลี่ยนความรู้ทางวิชาการกับสมาคมทางวิทยาศาสตร์สาขาอื่นๆ ในประเทศไทย
(๔) ร่วมมือและแลกเปลี่ยนความรู้ทางวิชาการกับสมาคม องค์กร และสถานศึกษาทางปรสิตวิทยา และ/หรือ เวชศาสตร์เขตร้อน ในต่างประเทศ
(๕) บำเพ็ญสาธารณประโยชน์เกี่ยวกับโรคทางปรสิตวิทยา และ/หรือเวชศาสตร์เขตร้อน และกิจกรรมอื่นๆ
ข้อ ๕ สมาคมไม่มีวัตถุประสงค์เกี่ยวกับการเมือง
หมวด ๓
สมาชิกภาพ
ข้อ ๖ สมาคมมีสมาชิก ๒ ประเภท คือ
(๑) สมาชิกสามัญ
(๒) สมาชิกกิตติมศักดิ์
ข้อ ๗ สมาชิกสามัญ ได้แก่ บุคคลซึ่งศึกษาหรือทำงานเกี่ยวกับปรสิตวิทยา หรือวิชาเวชศาสตร์เขตร้อน ตลอดจนสาขาวิชาวิทยาศาสตร์สุขภาพ เช่น แพทย์ ทันตแพทย์ เภสัชกร สัตวแพทย์ นักเทคนิคการแพทย์ พยาบาล นักวิจัย นักวิทยาศาสตร์ พนักงานวิทยาศาสตร์การแพทย์ เป็นต้น
ข้อ ๘ สมาชิกกิตติมศักดิ์ ได้แก่ ผู้ทรงคุณวุฒิหรือผู้สนใจให้การสนับสนุนช่วยเหลือสมาคม ทั้งทางวัตถุหรือการเงิน เพื่อให้การดำเนินงานของสมาคมบรรลุวัตถุประสงค์ตามที่ระบุไว้ในหมวด ๒ ของข้อบังคับนี้ และคณะกรรมการมีมติให้เชิญเป็นสมาชิกเพื่อเป็นเกียรติแก่สมาคม
การสมัครเป็นสมาชิก
ข้อ ๙ ผู้ประสงค์จะสมัครเข้าเป็นสมาชิกประเภทสามัญ ให้ยื่นใบสมัครตามแบบของสมาคมต่อนายทะเบียน โดยมีสมาชิกเป็นผู้รับรองสองคน
ข้อ ๑๐ เมื่อมีการประชุมคณะกรรมการ ให้นายทะเบียนนำรายชื่อผู้สมัครเข้าเป็นสมาชิกเสนอต่อที่ประชุม เพื่อคณะกรรมการจะได้พิจารณาลงมติรับเข้าเป็นสมาชิก
ข้อ ๑๑ เมื่อคณะกรรมการได้ลงมติรับผู้สมัครเข้าเป็นสมาชิกแล้ว ให้นายทะเบียนแจ้งไปยังผู้สมัครเป็นลายลักษณ์อักษร ให้ชำระค่าบำรุงภายในสามเดือนนับแต่วันได้รับแจ้ง สมาคมจะยังไม่ถือว่าผู้สมัครใหม่เป็นสมาชิก และจะยังไม่ลงทะเบียนจนกว่าผู้นั้นจะได้ชำระค่าบำรุงตามระเบียบว่าด้วยเงินบำรุงเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
ข้อ ๑๒ เมื่อผู้ใดได้เป็นสมาชิกโดยสมบูรณ์แล้ว ให้นายทะเบียนลงชื่อไว้ในทะเบียนสมาชิก
ค่าบำรุง
ข้อ ๑๓ (๑) สมาชิกสามัญ ต้องชำระค่าบำรุงตลอดชีพเป็นเงิน ๑,๐๐๐ บาท (หนึ่งพันบาทถ้วน)
(๒) สมาชิกกิตติมศักดิ์ไม่ต้องเสียเงินค่าบำรุง
(๓) เงินค่าบำรุงที่สมาชิกได้ชำระแก่สมาคมแล้ว เรียกคืนไม่ได้
(๔) การเปลี่ยนแปลงระเบียบว่าด้วยเงินค่าบำรุง ต้องเสนอต่อที่ประชุมใหญ่ และจักต้องได้รับความเห็นชอบด้วยคะแนนเสียง ๒ ใน ๓ ของสมาชิกที่เข้าประชุม
หมวด ๔
สิทธิและหน้าที่ของสมาชิก
ข้อ ๑๔ สมาชิกมีสิทธิใช้ประโยชน์ในสถานที่ของสมาคมได้โดยเสมอภาคกัน ภายในขอบเขตของวัตถุประสงค์ตามข้อบังคับและระเบียบของสมาคม
ข้อ ๑๕ สมาชิกมีสิทธิที่จะเสนอความเห็นเกี่ยวกับกิจการของสมาคมต่อคณะกรรมการหรือต่อที่ประชุมใหญ่
ข้อ ๑๖ สมาชิกมีสิทธิเข้าประชุมในการประชุมใหญ่ ประชุมวิชาการ ประชุมประจำปี มีสิทธิได้รับเลือกเป็นกรรมการของสมาคม ในกรณีที่มีการออกเสียงลงคะแนน ให้มีสิทธิออกเสียงได้คนละหนึ่งคะแนน
ข้อ ๑๗ สมาชิกมีสิทธิไต่ถามคณะกรรมการเกี่ยวกับกิจการของสมาคม เพื่อตรวจดูเอกสาร ทะเบียนสมาชิก บัญชี หรือทรัพย์สินของสมาคมได้ในเวลาอันสมควร
ข้อ ๑๘ สมาชิกผู้ใดย้ายที่อยู่ เปลี่ยนชื่อ นามสกุล หรือ ยศ ต้องแจ้งให้นายทะเบียนทราบเป็นลายลักษณ์อักษรภายในเวลาอันสมควร เพื่อแก้ไขทะเบียนสมาชิกให้ถูกต้อง
ข้อ ๑๙ สมาชิกจำนวน ๒๐ คนขึ้นไป มีสิทธิที่จะร่วมกันเสนอให้คณะกรรมการบริหารของสมาคมเรียกประชุมพิเศษได้
การพ้นจากสมาชิกภาพ
ข้อ ๒๐ สมาชิกภาพสิ้นสุดลงด้วยเหตุใดเหตุหนึ่ง ดังต่อไปนี้
(๑) ตาย
(๒) ลาออก
(๓) ต้องโทษจำคุกโดยคำพิพากษาของศาล และคณะกรรมการมีมติว่าเป็นการเสื่อมเสียแก่สมาคม อย่างร้ายแรง
(๔) ที่ประชุมใหญ่มีมติให้ออกจากการเป็นสมาชิกของสมาคม
ข้อ ๒๑ สมาชิกผู้ใดประสงค์จะลาออกจากสมาชิกภาพ ให้แสดงความจำนงเป็นลายลักษณ์อักษร ยื่นต่อ นายทะเบียนเพื่อนำเสนอคณะกรรมการเพื่ออนุมัติ เมื่อกรรมการอนุมัติแล้ว ผู้นั้นได้ออกจากการเป็นสมาชิก
หมวด ๕
การดำเนินงานของสมาคม
ข้อ ๒๒ ให้มีคณะกรรมการบริหารจำนวนไม่เกินกว่า ๒๐ คน ทำหน้าที่บริหารกิจการของสมาคมให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ คณะกรรมการบริหารประกอบด้วย
นายก |
๑ |
อุปนายก |
๑ |
เลขาธิการ |
๑ |
เหรัญญิก |
๑ |
ฝ่ายหารายได้ |
๑ |
นายทะเบียน |
๑ |
สมาชิกสัมพันธ์ |
๒ |
ประธานฝ่ายวารสาร |
๑ |
ประธานฝ่ายวิชาการ |
๑ |
และกรรมการอีกไม่เกินกว่า |
๑๐ คน |
ข้อ ๒๓ ที่ประชุมใหญ่ประจำปีเลือกตั้งสมาชิกสามัญเป็นกรรมการ ๑๑ คน และให้คณะกรรมการดังกล่าวแต่งตั้งสมาชิกสามัญที่เห็นว่ามีคุณสมบัติเหมาะสมอีกไม่เกินกว่า ๙ คน มาร่วมเป็นคณะกรรมการบริหารงานของสมาคม
ข้อ ๒๔ ให้คณะกรรมการบริหารเลือกตั้งกันเองเพื่อดำรงตำแหน่งต่างๆ ตามข้อ ๒๒
ข้อ ๒๕ ให้คณะกรรมการบริหารดำรงตำแหน่งวาระละ ๒ ปี และอาจได้รับเลือกตั้งกี่วาระก็ได้
ข้อ ๒๖ (๑) ถ้าตำแหน่งนายกว่างลงก่อนครบวาระ ให้เลื่อนอุปนายกขึ้นดำรงตำแหน่งแทนจนกว่าจะหมดวาระ
(๒) ถ้าตำแหน่งอุปนายกว่างลง ให้คณะกรรมการเลือกกรรมการคนใดคนหนึ่งขึ้นดำรงตำแหน่งแทน
(๓) ถ้าตำแหน่งกรรมการอื่นว่าง ให้เลื่อนผู้ที่ได้คะแนนในการประชุมใหญ่ถัดไปเข้าดำรงตำแหน่งแทน ผู้เข้าแทนตำแหน่งที่ว่างย่อมอยู่ในตำแหน่งนั้นได้เพียงวาระที่ตนแทนเท่านั้น
หน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการ
ข้อ ๒๗ คณะกรรมการมีหน้าที่บริหารกิจการสมาคมให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ ตามระเบียบและข้อบังคับของสมาคม และตามมติของที่ประชุมใหญ่ประจำปี หรือปฏิบัติหน้าที่พิเศษ ตลอดจนสั่งบรรจุหรือถอดถอนเจ้าหน้าที่ประจำของสมาคมได้
ข้อ ๒๘ นายกมีฐานะเป็นหัวหน้าคณะกรรมการ รับผิดชอบในการบริหารกิจการของสมาคม เป็นผู้สั่งนัดหมายประชุมคณะกรรมการ ทั้งการประชุมใหญ่ประจำปี ประชุมสามัญและวิสามัญ และในกรณีพิเศษมี เหตุจำเป็นเกิดขึ้น
ข้อ ๒๙ อุปนายกมีหน้าที่ทำการแทนนายก เมื่อนายกไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ หรือเมื่อนายกขอร้องให้อุปนายกทำหน้าที่แทน
ข้อ ๓๐ เลขาธิการมีหน้าที่ดังนี้
(๑) ติดต่อกับสมาชิก บุคคล องค์การ โดยทั่วไป
(๒) นัดประชุมคณะกรรมการ ประชุมใหญ่ และประชุมวิชาการ ตามคำสั่งนายก หรือตามมติที่ประชุมคณะกรรมการ แล้วแต่กรณี
(๓) ทำรายงานการประชุมคณะกรรมการ และการประชุมใหญ่ประจำปี
(๔) จัดทำรายงานประจำปี
ข้อ ๓๑ เหรัญญิกมีหน้าที่ควบคุมการใช้จ่ายของสมาคมตามงบประมาณประจำปีที่รับอนุมัติแล้ว มีหน้าที่รับจ่ายและรักษาเงินของสมาคม ทำบัญชีงบเดือน บัญชีงบดุล และงบประมาณประจำปี เสนอคณะกรรมการ บัญชีงบเดือนและงบดุลจะต้องมีรายการย่อแสดงจำนวนทรัพย์สินและหนี้สินของสมาคม ใบสำคัญจ่ายเงินทั้งหลายจะต้องมีลายมือชื่อนายกและเหรัญญิกกำกับ
ข้อ ๓๒ ฝ่ายหารายได้มีหน้าที่จัดกิจกรรมเพื่อหารายได้ หรือขอรับการสนับสนุนกิจกรรมของสมาคมจากหน่วยงานอื่นๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน
ข้อ ๓๓ นายทะเบียนมีหน้าที่จัดทำทะเบียนสมาชิก รวมทั้งที่อยู่ ที่ทำงาน และ/หรือ หมายเลขโทรศัพท์ที่ติดต่อได้ ช่วยเลขาธิการในการส่งเอกสาร/หนังสือเชิญประชุมวาระต่างๆ
ข้อ ๓๔ ประธานฝ่ายวารสารมีหน้าที่จัดทำวารสารของสมาคมอย่างน้อยปีละ ๒ ฉบับ
ข้อ ๓๕ ประธานฝ่ายวิชาการมีหน้าที่จัดประชุมวิชาการอย่างน้อยปีละ ๒ ครั้ง และเป็นประธานในการประชุมวิชาการที่สมาคมเป็นผู้จัดหรือผู้ร่วมจัด
ข้อ ๓๖ ฝ่ายสมาชิกสัมพันธ์มีหน้าที่ให้การต้อนรับและอำนวยความสะดวกแก่สมาชิกและแขกของสมาคม ประสานงานกับนายทะเบียนในการส่งข่าวสารของสมาคมให้แก่สมาชิก
ข้อ ๓๗ คณะกรรมการอาจจะมอบหมายให้กรรมการคนหนึ่งคนใดหรือหลายคนปฏิบัติหน้าที่พิเศษอย่างใดก็ได้ตามความจำเป็น
ข้อ ๓๘ เพื่อให้กิจการของสมาคมดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพ คณะกรรมการอาจแต่งตั้งอนุกรรมการกี่คนก็ได้เพื่อทำงานตามที่เห็นควร โดยคณะอนุกรรมการจะอยู่ในวาระได้ไม่เกินวาระของกรรมการ
ข้อ ๓๙ ให้คณะกรรมการมีอำนาจแต่งตั้งที่ปรึกษาจากผู้ทรงคุณวุฒิหรือจากสมาชิกกิตติมศักดิ์ได้ไม่เกิน ๑๐ คน เพื่อให้คำแนะนำในกิจการของสมาคม และอยู่ในตำแหน่งตามวาระของคณะกรรมการชุดนั้น ในการประชุมกรรมการอาจเชิญเข้าร่วมได้ แต่ไม่มีสิทธิออกเสียงลงมติ
ข้อ ๔๐ คณะกรรมการพ้นจากตำแหน่งโดยเหตุใดเหตุหนึ่ง ดังต่อไปนี้
(๑) ออกตามวาระ
(๒) ลาออก และคณะกรรมการอนุมัติให้ออก
(๓) ขาดจากสมาชิกภาพด้วยเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งตามความในข้อ ๒๐
หมวด ๖
การประชุม
การประชุมกรรมการและการประชุมใหญ่สามัญประจำปี
ข้อ ๔๑ ให้มีการประชุมใหญ่สามัญประจำปี ปีละหนึ่งครั้ง ภายในเดือนกุมภาพันธ์หรือมีนาคม เพื่อแสดงกิจการที่ได้ดำเนินการในรอบปีที่ผ่านมา เสนองบประมาณ บัญชีงบดุล ตรวจบัญชี ปรึกษาหารือกิจการของสมาคม และเลือกกรรมการตามวาระ การประชุมใหญ่ประจำปีต้องมีสมาชิกมาประชุมไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมด หรือไม่น้อยกว่า ๓๐ คน จึงเป็นองค์ประชุมได้ หากไม่ครบ ให้เลื่อนไปประชุม ครั้งที่ ๒ ซึ่งห่างจากครั้งแรกไม่น้อยกว่า ๒๐ วัน และคราวนี้สมาชิกจะประชุมเป็นจำนวนเท่าใดก็ให้ถือเป็นองค์ประชุมได้
ข้อ ๔๒ ให้มีการประชุมคณะกรรมการอย่างน้อยทุกๆ ๒ เดือน นายกหรือกรรมการตั้งแต่ ๑๐ คน ขึ้นไป อาจเรียกประชุมได้เมื่อเห็นสมควร กรรมการจะต้องมาประชุมเกินครึ่งหนึ่งจึงจะเป็นองค์ประชุมได้
ข้อ ๔๓ การนัดประชุมทุกอย่าง ให้เลขาธิการเป็นผู้แจ้งกำหนดวัน เวลา สถานที่ ตลอดจนระเบียบวาระการประชุม ให้สมาชิกหรือผู้ที่จะเข้าประชุมทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า ๑๕ วัน นอกจากมีเรื่องรีบด่วน อาจเชิญประชุมด่วนได้ ในการประชุมทุกอย่าง ให้เลขาธิการทำหน้าที่บันทึกรายงานการประชุมและให้ประธานของที่ประชุมลงนามรับรองไว้เป็นหลักฐาน
ข้อ ๔๔ ในการประชุมกรรมการก็ดี การประชุมใหญ่ประจำปีก็ดี ให้นายกเป็นประธานของที่ประชุม ถ้านายกไม่อยู่ ให้อุปนายกเป็นประธานแทน ถ้านายกและอุปนายกไม่อยู่ ให้คณะกรรมการหรือที่ประชุมใหญ่เลือกประธานเฉพาะการประชุมคราวนั้น
ข้อ ๔๕ มติของที่ประชุมทุกครั้ง ให้ถือเสียงข้างมากของสมาชิกที่มาประชุม นอกจากจะระบุไว้ให้เป็นอย่างอื่น ถ้าคะแนนเสียงเท่ากัน ให้ประธานที่ประชุมเป็นผู้ชี้ขาด
หมวด ๗
การเงิน
ข้อ ๔๖ สมาคมมีรายได้จากค่าบำรุงสมาชิก เงินบริจาค และจัดกิจกรรมต่างๆ เช่น จัดอบรมระยะสั้น เป็นต้น
ข้อ ๔๗ เพื่อเป็นการหารายได้ให้สมาคม นายกโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการบริหาร อาจนำเงินของสมาคมไปลงทุนในกิจการต่างๆ ได้
ข้อ ๔๘ การใช้จ่ายเงินบริจาค ให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของผู้บริจาค โดยเหรัญญิกหรือคณะอนุกรรมการเป็นผู้ดูแลรับผิดชอบ แล้วให้รายงานต่อคณะกรรมการบริหาร สำหรับการใช้จ่ายเงินที่ได้จากการจัดกิจกรรมต่างๆ ให้คณะอนุกรรมการเป็นผู้ดูแลรับผิดชอบ แล้วให้รายงานต่อคณะกรรมการบริหาร
ข้อ ๔๙ ให้เหรัญญิกเก็บรักษาเงินสดไว้เองได้ไม่เกิน ๕๐,๐๐๐ บาท (ห้าหมื่นบาทถ้วน) เงินส่วนที่เกินจากนั้นต้องนำฝากธนาคารหรือสถาบันการเงินซึ่งเป็นที่เชื่อถือได้ของคณะกรรมการบริหาร
ข้อ ๕๐ การจ่ายเงินในกิจการต่างๆ ของสมาคม เหรัญญิกเป็นผู้จ่ายได้ไม่เกิน ๕๐,๐๐๐ บาท (ห้าหมื่นบาทถ้วน)ภายหลังจากได้รับความเห็นชอบจากนายกแล้ว สำหรับการจ่ายเงินมากกว่า ๕๐,๐๐๐ บาท (ห้าหมื่นบาทถ้วน)นั้น จะต้องขออนุมัติที่ประชุมคณะกรรมการบริหารก่อนทุกครั้ง
ข้อ ๕๑ ในการสั่งจ่ายหรือเซ็นตั๋วสัญญาใช้เงินหรือพันธบัตร จะต้องลงลายมือชื่อโดยกรรมการสองนาย คือ นายกหรืออุปนายก กับ เหรัญญิกหรือเลขาธิการ โดยอุปนายกหรือเลขาธิการจะลงลายมือชื่อได้ก็ต่อเมื่อผู้ที่ตนจะลงลายมือชื่อแทนนั้นไม่อยู่หรือไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้
หมวด ๘
บทเบ็ดเตล็ด
ข้อ ๕๒ สมาชิกที่มีอยู่ในทะเบียนภายใต้ข้อบังคับนี้ ให้ถือเป็นสมาชิกสามัญทั้งหมด
ข้อ ๕๓ เมื่อคณะกรรมการบริหารให้ความเห็นชอบการแก้ไขเพิ่มเติมข้อบังคับของสมาคมแล้ว ให้ประกาศให้สมาชิกทราบและทักท้วงได้ภายใน ๓๐ วัน หากไม่มีการทักท้วงใดๆ ภายในเวลาที่กำหนด ให้ข้อบังคับฉบับดังกล่าวมีผลทันทีที่พ้นกำหนดทักท้วง
ข้อ ๕๔ การเลิกสมาคมให้กระทำได้โดยคะแนนเสียง ๓ ใน ๔ ของสมาชิกทั้งหมด และเมื่อสมาคมต้องเลิกล้มด้วยเหตุใดก็ตาม ให้ทรัพย์สินที่เหลือตกเป็นขององค์การซึ่งมีวัตถุประสงค์คล้ายคลึงกัน หรือการกุศลอย่างอื่น แล้วแต่ที่ประชุมใหญ่จะเห็นสมควร